นโยบายของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) ที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษารวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มพลังความเข้มแข็งและทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการดำเนินการ และตอบสนองต่อแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 - 2565) จึงได้จัดตั้งเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา จำนวน 9 เครือข่าย โดยแบ่งแยกตามพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษาภาคกลางตอนบนเป็น 1 ใน 9 ของเครือข่าย มีสถาบันอุดมศึกษาเป็นสมาชิกจำนวน 46 สถาบัน โซนพื้นที่ 8 จังหวัดของภาคกลางตอนบน

การบริหารจัดการของเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค (B)

องค์กรบริหารเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค (B) ซึ่งมีอยู่ 9 เครือข่าย หรืออาจเรียกเป็น B1-9 มีคณะกรรมการบริหารเครือข่ายอุดมศึกษาแต่ละภูมิภาค ทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยคณะกรรมการนี้แต่งตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา) มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. องค์ประกอบ

1. อธิการบดีของสถาบันแม่ข่าย (ประธานกรรมการ)

2. อธิการบดีของสถาบันสมาชิกทุกแห่ง หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย (กรรมการ)

3. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กรรมการ)

4. ผู้แทนภาคเอกชนองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (กรรมการ)

5. ผู้แทนชุมชนท้องถิ่น (กรรมการ)

ทั้งนี้ อาจแต่งตั้งกรรมการอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละเครือข่าย อนึ่ง สำหรับกรณีวิทยาเขตที่อยู่ในพื้นที่ นั้น ไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารได้ แต่สามารถเข้าร่วมเป็นสถาบันสมาชิกได้โดยได้รับความเห็นชอบจากสถาบันแม่ และสามารถเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมในเครือข่ายเชิงประเด็นได้ ทั้งนี้ ตามความสมัครใจ รวมทั้งสามารถเป็นอนุกรรมการในเครือข่ายเชิงประเด็นได้โดยให้เป็นดุลยพินิจของแต่ละเครือข่าย

2. อำนาจหน้าที่

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้แก่

1. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือแผนดำเนินงานของเครือข่าย

2. สนับสนุนการใช้องค์ความรู้และทรัพยากรร่วมกันของสถาบันสมาชิก

3. จัดทำระเบียบบริหาร ระเบียบการเงิน และระเบียบอื่นที่จำเป็นของเครือข่าย

4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อดำเนินงานของเครือข่าย

5. จัดทำฐานข้อมูลและสารสนเทศ

6. กำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายเชิงประเด็นและหน้าที่เลขานุการของเครือข่าย

หน้าที่และความรับผิดชอบอื่น ๆ

นอกจากหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าว เมื่อพิจารณาในเชิงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเครือข่าย A และเครือข่าย C แล้ว เครือข่าย B มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

1. รับนโยบายและภารกิจจากเครือข่าย A และถ่ายทอดไปยังเครือข่าย C

2. ประสานและส่งเสริมสนับสนุนเครือข่าย C ที่มีอยู่แล้ว ร่วมทั้งการพิจารณาสนับสนุนการจัดตั้งปรับปรุง ยุบ รวม หรือเลิกเครือข่าย C โดยความเห็นชอบร่วมกันของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย A แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกับเครือข่าย C ที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นไปโดยความยินยอมสมัครใจของเครือข่าย C

3. พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นชอบโครงการ/กิจกรรมที่นำเสนอโดยเครือข่าย C

4. รวบรวมและนำเสนอโครงการ/กิจกรรมพร้อมวงเงินงบประมาณของเครือข่าย B และ C เสนอต่อเครือข่าย A

5. ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในเครือข่าย

6. บริหารจัดการงบประมาณของเครือข่าย B และหรือประสานการบริหารจัดการ

7. ติดตามและประเมินผลโครงการ/กิจกรรมของเครือข่าย C ที่ได้รับอนุมัติจาก เครือข่าย A

8. รายงานผลการดำเนินงานของโครงการ/กิจกรรมของเครือข่าย B และเครือข่าย C ต่อเครือข่าย A